การหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี
การหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี
ในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปีเป็นช่วงเทศกาลของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ตามแบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับผู้ที่มีรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินการผิดสัญญาเช่าซื้อ การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน การประกอบโรคศิลปะ กฎหมายวิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม รับเหมาก่อสร้าง การธุรกิจ การพาณิชย์การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง เป็นต้น ในปีภาษี 2560 นี้มีการปรับปรุงอัตราการหักค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อเป็นการสนับสนุนให้บุคคลธรรมดาหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรอันเป็นผลทำให้ผู้มีเงินได้ต้องจัดทำบัญชีประกอบการหักค่าใช้จ่าย จึงขอแนะนำอัตราการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทเพื่อใช้ในการคำนวณภาษีให้ถูกต้อง
ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8) ที่ได้รับในระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2560มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) เมื่อมีเงินได้ตามเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้ที่เป็นโสด มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
2. ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้พึงประเมินฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท
3. กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
4. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 120,000 บาท
5. คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 120,000 บาท
6. วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ต้องจดทะเบียนและได้รับใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจากกรมส่งเสริมการเกษตรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548ถ้ามีเงินได้พึงประเมินเกิน 1,800,000 บาทในปีภาษี ให้นำเงินได้ทั้งหมดมาคำนวณภาษี
การหักค่าใช้จ่าย
1. เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (5)ได้แก่ เงิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
1.1 การให้เช่าทรัพย์สิน
การหักค่าใช้จ่าย ให้สิทธิเลือกหักได้ตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราดังนี้
- บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ ร้อยละ 30
- ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม ร้อยละ 20
- ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม ร้อยละ 15
- ยานพาหนะ ร้อยละ 30
- ทรัพย์สินอย่างอื่น ร้อยละ 10
กรณีให้เช่าช่วง ให้หักค่าใช้จ่ายจากค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วง แล้วแต่กรณี
1.2 การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน ซึ่งผู้ขายได้รับเงินคืนทรัพย์สิน
ที่ซื้อขายนั้น โดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว โดยให้ถือเอาเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันผิดสัญญาทั้งสิ้น เป็นเงินได้พึงประเมินของปีที่มีการผิดสัญญานั้น
การหักค่าใช้จ่าย ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้เพียงวิธีเดียวในอัตราร้อยละ 20
2. เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (6) ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม
การหักค่าใช้จ่าย ให้สิทธิเลือกหักได้ตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราดังนี้
- การประกอบโรคศิลปะ ร้อยละ 60
- วิชาชีพอิสระอื่นนอกจากการประกอบโรคศิลปะ ร้อยละ 30
3. เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (7) ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
การหักค่าใช้จ่าย ให้สิทธิเลือกหักได้ตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60
4. เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) ได้แก่
4.1 เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ตามมาตรา 40 (1) ถึง (7) แล้ว รวมทั้งการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร
การหักค่าใช้จ่าย ให้สิทธิเลือกหักได้ตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 40-60*
4.2 เงินส่วนแบ่งของกำไร/เงินปันผล ที่ได้รับจากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ของผู้มีเงินได้ซึ่งอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ เฉพาะกรณีผู้มีเงินได้ดังกล่าว ไม่ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 หรือยอมให้หักแต่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
4.3 เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา หรือที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร (เฉพาะที่เลือกนำมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ)การหักค่าใช้จ่าย ให้สิทธิเลือกหักได้ตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
(1) การขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้เพียงวิธีเดียว ในอัตราร้อยละ 50
(2) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรให้สิทธิเลือกหักได้ตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราดังนี้
จำนวนปีที่ถือครอง | 1 ปี | 2 ปี | 3 ปี | 4 ปี | 5 ปี | 6 ปี | 7 ปี | 8 ปีขึ้นไป |
ร้อยละของเงินได้ | 92 | 84 | 77 | 71 | 65 | 60 | 55 | 50 |
4.4 เงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ**
กรณีที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 2 (56) และ (65) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) และกฎกระทรวงฉบับที่ 265 (พ.ศ. 2551) ให้แสดงรายการเงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนฯ หักราคาทุน
กรณีที่ไม่ได้รับยกเว้น ให้แสดงรายการเงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนฯ หักราคาทุน และหากราคาขายมากกว่าราคาทุนต้องนำผลต่างไปรวมคำนวณภาษี
4.5 เงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว
กรณีที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 2 (67) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) และกฎกระทรวงฉบับที่ 317 (พ.ศ. 2559) ให้แสดงรายการเงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนฯ หักราคาทุน
กรณีที่ไม่ได้รับยกเว้น ให้แสดงรายการเงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนฯ หักราคาทุน และหากราคาขายมากกว่าราคาทุนต้องนำผลต่างไปรวมคำนวณภาษี
4.6 เงินได้จากการให้หรือการรับ (เฉพาะส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 42 (26) (27) และ (28)
แห่งประมวลรัษฎากร) มีให้เลือก 2 กรณี กรณีเลือกนำมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ และกรณีเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นฯ ดังนี้
(1) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมบุตรบุญธรรม) เฉพาะเงินได้ในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทต่อบุตรหนึ่งคน
(2) เงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทต่อคน
(3) เงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต่อคน
ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร และมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ใน
เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดได้เป็น
จำนวน 1 เท่าของเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ สถานประกอบกิจการที่ตั้ง
อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
จะเห็นได้ว่าเงินได้ดังกล่าวข้างต้นให้ความสำคัญและให้สิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบหักเหมาและแบบ
ตามความจำเป็นและสมควร ดังนั้น หากผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่กฎหมายกำหนด (แบบเหมา) สามารถ
เลือกหักแบบตามความจำเป็นและสมควรได้ โดยต้องจัดทำบัญชีตามรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อใช้ประกอบการยื่นแบบฯ
ได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง