บทความและคลังความรู้

ปัจจัยสู่ความสำเร็จการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพของประเทศไทย

ปัจจัยสู่ความสำเร็จการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพของประเทศไทย

     ตามที่ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบนโยบายและให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ด้วยการใช้ปฏิบัติการสารสนเทศ (Information Operations : IO) กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานในสังกัดต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้เกิดความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาติและประชาชน ผู้เขียนจึงได้นำนโยบายดังกล่าวมาใช้ในการนำเสนอรูปแบบและแนวคิดในภาคส่วนของผู้แทนจากประเทศไทยในหัวข้อที่ ILO กำหนด เรื่องปัจจัยสู่ความสำเร็จการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพของประเทศไทย ในครั้งที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรระดับภูมิภาคด้านบำนาญชราภาพ ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ช่วงเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งผู้แทนจาก ILOให้ความสนใจและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยยินดีเสนอตัวเป็นฝ่ายสนับสนุนเทคนิควิชาการให้กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระที่นำเสนอได้ ดังนี้

 

1. การยอมรับเป้าหมายร่วมเดียวกัน

     สำนักงานประกันสังคมต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับบุคลากรทุกระดับ ให้ทราบถึงนโยบายและทิศทางของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ในการเตรียมการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย และความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพของประเทศไทย บุคลากรทุกคนต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันถึงทิศทางและเป้าหมายขององค์กร รวมทั้งเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพของสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนเมื่อสิ้นสภาพการจ้างงานและเข้าสู่วัยเกษียณได้มีบำนาญที่เพียงพอต่อการยังชีพเมื่อสูงวัยบุคลากรทุกคนต้องเป็นผู้แทนขององค์กรในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมีความเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นและเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมผลักดันให้การปฏิรูประบบชราภาพประสบผลสำเร็จ

     สำนักงานประกันสังคมต้องรู้จักใช้ข้อเสนอแนะของนักวิชาการและองค์กรที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล เช่น ทีดีอาร์ไอธนาคารโลก ILO มาเป็นตัวกลางในการสื่อสารสร้างความรับรู้และความเข้าใจกับสื่อสารมวลชนทุกแขนง ให้เห็นถึงประโยชน์และผลลัพธ์ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้รับจากการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ เนื่องจากสื่อสารมวลชนมีอิทธิพลต่อการโน้มน้าวสร้างความเชื่อถือต่อประชาชนในวงกว้างได้ในเวลาอันสั้นอย่างรวดเร็ว หากสื่อสารมวลชนทุกแขนงเห็นด้วยกับการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพที่สำนักงานประกันสังคมต้องการที่จะนำเสนอต่อสาธารณะ เพื่อให้ชุมชนสังคมและสถาบันครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขกับผู้สูงวัย โดยไม่เป็นภาระให้กับลูกหลาน สื่อสารมวลชนทุกแขนงย่อมยินดีและเต็มใจที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้
     สำนักงานประกันสังคมต้องสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ให้เกิดการยอมรับและเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูประบบชราภาพ เพื่อเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่เป็นภาระต่อสังคมและรัฐบาล เมื่อต้องเป็นผู้สูงวัยในอนาคต

     2. ปฏิบัติการสารสนเทศ (Information Operations : IO)
สำนักงานประกันสังคมจะต้องปฏิบัติการด้านการข่าวผ่านสื่อทุกรูปแบบ เช่น สังคมออนไลน์ โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และสื่ออื่นๆ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงตามศักยภาพของผู้บริโภคแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มขีดความสามารถหลักกลุ่มขีดความสามารถสนับสนุน และกลุ่มขีดความสามารถที่เกี่ยวข้องโดยอาศัยและสร้างความน่าเชื่อถือจากข้อเสนอแนะของนักวิชาการและองค์กรที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล เช่น ทีดีอาร์ไอ ธนาคารโลก ILO เป็นต้น

     3. กลุ่มเป้าหมายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
     3.1 ลูกจ้าง ผู้ประกันตน
     สำนักงานประกันสังคมต้องสร้างความรับรู้และความเข้าใจผ่านเครือข่ายด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกจ้างแรงงาน เช่น สหภาพแรงงาน สภาลูกจ้าง ชมรมแรงงาน สภาวิชาชีพ ชุมชน ครอบครัว โรงเรียน ให้เห็นถึงประโยชน์ระยะยาวที่สมาชิกหรือบุคคลในครอบครัวจะได้รับ เพื่อเป็นกระบอกเสียงแทนสำนักงานประกันสังคมในการขยายผลสร้างการยอมรับให้เกิดในวงกว้าง เพื่อให้ลูกจ้างผู้ประกันตนมีความเต็มใจที่จะจ่ายเงินสมทบเพิ่มและพร้อมให้ความร่วมมือที่จะผลักดันให้การปฏิรูประบบบำนาญประสบผลสำเร็จในเวลาที่เหมาะสม
     3.2 นายจ้างสถานประกอบการ
สำนักงานประกันสังคมต้องสร้างความรับรู้และความเข้าใจผ่านเครือข่ายด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนายจ้างสถานประกอบการ เช่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาวิชาชีพ ชมรม ให้เห็นถึงประโยชน์ระยะยาวที่จะได้รับกลับคืนจากการลงทุนกับการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับลูกจ้างและคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงวัยในอนาคตเป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศดีขึ้น เพื่อเป็นนักประชาสัมพันธ์แทนสำนักงานประกันสังคมในการขยายผลสร้างการยอมรับให้เกิดในหมู่สมาชิก เพื่อให้นายจ้างสถานประกอบการมีความเต็มใจที่จะลงทุนจ่ายเงินสมทบเพิ่มและยินดีสนับสนุนการปฏิรูประบบบำนาญให้ประสบผลสำเร็จ
     3.3 รัฐบาล
     สำนักงานประกันสังคมต้องจัดเตรียมข้อมูลด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีการวิเคราะห์ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยที่รัดกุม แม่นยำ เพื่อนำเสนอให้รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรสภานิติบัญญัติ เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อผลักดันการออกกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทันกับห้วงเวลาในการปฏิรูประบบบำนาญ
     ปฏิบัติการสารสนเทศจึงเป็นปัจจัยหลักสู่ความสำเร็จการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพของประเทศไทย ต้องสร้างการยอมรับภาคส่วนประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องสร้างการยอมรับภาคส่วนผู้ใช้แรงงาน ต้องสร้างการยอมรับภาคส่วนนายจ้างสถานประกอบการ เมื่อทุกภาคส่วนยอมรับ การแปลงนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรมยอมต้องประสบผลสำเร็จ