บทความและคลังความรู้

พาณิชย์...เปิดตัวการสร้างร้าน 'SMART โชวห่วย' 2

พาณิชย์...เปิดตัวการสร้างร้าน 'SMART โชวห่วย'
ก่อนลุยเปลี่ยนโฉมโชวห่วยทั่วประเทศ
 
                                      กระทรวงพาณิชย์ จัดโครงการ 'พัฒนาร้านค้าปลีกสู่ SMART โชวห่วย ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน พร้อมเปิดตัวการพัฒนา ร้านค้าปลีก เปลี่ยนร้านค้าโชวห่วยดั้งเดิมให้เป็น Smart โชวห่วย ด้วยการใช้กลยุทธ์ปรับร้านค้าให้เป็นร้านค้าปลีกยุคใหม่ คนซื้อสะดวก คนขายจัดการง่าย ใช้เทคโนโลยีมาช่วยจัดระบบ แบ่งเบาภาระการบริหารจัดการ ขยายบริการ สร้างยอดขายเพิ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการชุมชน ตอกย้ำความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจฐานราก ภายในปี 63 เป้าหมาย 30,000 ร้านทั่วประเทศไทย
 
                                        ในวันนี้ (30 ตุลาคม 2562) กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดกิจกรรม "พัฒนาร้านค้าปลีกสู่ SMART โชวห่วย" ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกไทยในระดับท้องถิ่น ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค (Supplier) และ ผู้ให้บริการ Application ได้ผนึกกำลังกันพัฒนาร้านค้าปลีก (โชวห่วย) ของคนไทย เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของร้านค้าโชวห่วยดั้งเดิมที่เป็นจุดกระจายรายได้ให้กับชุมชนไทยมาอย่างยาวนาน ให้สามารถเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ได้ประกอบกับเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
 
                                        สำหรับแนวทางการพัฒนาไปสู่ร้าน SMART โชวห่วย เพื่อฟื้นฟูธุรกิจที่อยู่คู่สังคมไทยและเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถเทียบชั้นกับร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในประเทศได้นั้น ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้รวบรวมปัญหาอุปสรรคทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับร้านค้าโชวห่วยไทย และกับดักที่ทำให้ไม่สามารถเติบโตและแข่งขันได้ พร้อมกับนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดจนได้ออกมาเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาสู่ Smart โชวห่วยที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ และในวันนี้กระทรวงฯ ได้นำ 'ร้าน Smart โชวห่วยต้นแบบ' แห่งแรกมาจัดแสดงเพื่อให้เห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยร้านค้าแห่งนี้จะเป็นการจัดร้านค้าให้มีความสะดวกต่อผู้บริโภค การจัดผังร้านค้าและการเรียงสินค้าที่ง่ายต่อการค้นหา การจัดโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการให้เป็นระบบ อาทิ การใช้เครื่อง POS ในร้านค้าโชวห่วยเพื่อช่วยบริหาร Stock สินค้าและการทำบัญชีรายรับรายจ่าย การชำระสินค้าผ่าน QR Code การจำหน่ายสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ครัวชุมชน มุมกาแฟ และบริการต่างๆ เพื่อรับชำระค่าบริการที่จะมาช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้ร้านค้าโชวห่วย
 
                                         กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาร้านค้าปลีกทั่วประเทศให้ได้ 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2563 และจากนี้ไปร้านค้าในโครงการจะได้รับการพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ประกอบกับส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร้านค้าให้มีประสิทธิภาพ มีทีมพี่เลี้ยงคอยช่วยให้คำปรึกษา ช่วยปรับภาพลักษณ์ให้ร้านค้า การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการเชื่อมโยงสินค้า SME สินค้า OTOP และสินค้าชุมชนจากท้องถิ่น เพื่อเข้าไปจำหน่ายในร้านค้า ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับโชวห่วยอีกทางหนึ่ง
 
                                         จากข้อมูลการสำรวจของ The Nielsen Company (Thailand) ในปี 2562 มีร้านค้าโชวห่วยทั่วประเทศ จำนวน 443,123 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 4,303 ร้าน (ปี 2561 มีจำนวน 438,820 ร้าน) แบ่งสัดส่วนเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 34% ภาคกลาง 22% ภาคเหนือ 16% ภาคใต้ 15% และกรุงเทพและปริมณฑล 13% แสดงให้เห็นว่าร้านค้าโชวห่วยได้กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่สะท้อนถึงการเป็นกลไกสำคัญในการเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี สำหรับภาพรวมของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกจะพบว่าร้านค้าโชวห่วยมีส่วนแบ่งในตลาดสูงเป็นอันดับ 1 คือ 44.1% รองลงมาคือร้านสะดวกซื้อ 31.8% และไฮเปอร์มาร์เก็ต 24.1% ดังนั้น การสร้าง Smart โชวห่วยในครั้งนี้จะช่วยทำให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น กลายเป็น Outlet ที่ใกล้ชิดชุมชน ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชนและสินค้า OTOP ได้ด้วย นำไปสู่การหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน บรรลุเป้าหมายตามแนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ